เสน่ห์แบบไทยไทย ณ บางกอก
วันนี้เราจะมาบอกเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยกันหน่อย……ว่าประเทศของเรานั้นมีเสน่ห์มากแค่ไหนถ้าพูดถึงประเทศไทยทุกท่านจะคิดถึงอะไรเป็นสิ่งแรก…..?? บางคนจะคิดถึง อาหารไทย ศิลปะป้องกันตัวที่เราเรียกว่ามวยไทยนั้นเอง หรือ สถานที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่มากมายทั่วทุกภาค แต่วันนี้เราจะพาทุกท่านมารู้จักเกี่ยวสิ่งเหล่านั้นกันคะ ถ้าพร้อมแล้ว เราเริ่มที่สถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกกันเลย……
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ต้องขอบอกไว้เลยว่าไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะนอกจากจะดังไปทั่วโลกแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญและสวยงามจนคุณต้องอุทานออกมาย่างแน่นอน…. 😉 🙂 ➡ 💡
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้วมรกต (Wat Phra Kaew )วัดสำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระแก้วนั้นเอง สร้างโดย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่1 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗
เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย มาประดิษฐาน ณ ที่นี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งนี้ ภายหลังจากการสถาปนาแล้ว ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาล เพราะเป็นวัดสำคัญ จึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทุก ๕๐ ปี คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน นอกจากนี้วัดพระแก้วยังมีจุดที่น่าสนใจ อยู่หลายจุด แต่เราก็ยกมาแค่บางจุด นั้นก็คือ ภาพเขียนบนฝาผนังเรื่องราวในมหากาพย์วรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ อยู่บริเวณระเบียงคดรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีจำนวนทั้งสิ้น 178 ห้อง สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่1 โดยได้มีการเขียนซ่อมแซมเพิ่มเติมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้บูรณะในโอกาสครบรอบ 100 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ ในการนี้ ได้ทรงพระนิพนธ์โคลงประกอบภาพไว้จำนวนแปดห้อง เป็นโคลง 224 บท
ต่อมาเราจะพาทุกท่านมายังสถานที่ใกล้ๆกันนั้นก็คือ พระบรมมหาราชวัง……
พระบรมมหาราชวัง(Grand Palace)หรือพระราชวังพระนคร เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน เริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อ พ.ศ. 2325 เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระบรมมหาราชวังได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขยายอาณาเขตและบูรณะปฏิสังขรณ์มาในทุกรัชกาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบัญญัติให้เรียกพระราชวังหลวงว่า พระบรมมหาราชวัง นั่นคือ ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า “บรม” สำหรับฝ่ายวังหลวง และ “บวร” สำหรับฝ่ายวังหน้า พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าจึงเรียกว่า “พระบวรราชวัง” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชวังหลวงก็ยังคงใช้ว่า พระบรมมหาราชวัง มาจนกระทั่งปัจจุบัน
ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมในปี พ.ศ. 2549 เป็นจำนวนถึง 8,995,000 คน
เราจะออกเดินทางไปที่สถานที่ท่องเที่ยวแห่งต่อไปกันคะ….. 🙂 ➡ ➡ ➡

วัดโพธิ์ (Wat pho) หรือชื่อทางราชการเรียกว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐาน พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย
พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวา อยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราชมีถนนเชตุพนขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจน
มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรมช่างสิบหมู่ อำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาวาศ” ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้โปรดฯให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม”
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ นานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตก คือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาส สวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวง ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใดๆ
เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนาและการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์แห่งนี้บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๑ และที่ ๓ ขุนนางเจ้าทรงกรมช่างสิบหมู่ ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถาน และสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในวัดพระอารามหลวงด้วยพลังศรัทธา ตามพระราชประสงค์ของพระองค์ ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยเปิดสรรพวิชาไทยแห่งแรก ที่รวมเอาภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กับอย่างไม่รู้จบสิ้น
ภายในเขตวัดโพธิ์มีพระวิหารอยู่หลายหลัง พระวิหารสำคัญที่พลาดไม่ได้ต้องแวะเข้าไปเยือนคือ วิหารพระพุทธไสยาส ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างสิบหมู่สร้างพระพุทธไสยาสหรือพระนอนขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างพระวิหารที่มีระเบียงเดินได้รอบในภายหลัง องค์พระพุทธไสยาสก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองพระพักตร์สูง 15 เมตร ทอดพระองค์ยาว 46 เมตร ที่พระบาทสูง 3 เมตรยาว 5 เมตร พระบาทตกแต่งลายประดับมุกภาพมงคล 108 ที่รับคติมาจากชมพูทวีป ถือเป็นลายศิลปะไทยผสมจีน ผสมผสานกันอย่างประณีตศิลป์

นอกเหนือจากพระเจดีย์รายที่อยู่รายรอบพระระเบียงชั้นนอกแล้ว เจดีย์ขนาดใหญ่ที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็น พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งอยู่ในบริเวณกำแพงแก้วสีขาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบบจีน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เครื่องถ้วยหลากสี มีตุ๊กตาหินจีนประดับอยู่ประตูละคู่ พระมหาเจดีย์แต่ละองค์เป็นเจดีย์ย่อไม้สิบสอง องค์ประดับกระเบื้องเคลือบสีเขียวเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่1 นามว่า พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ ใกล้กันพระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาวเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่2 ส่วนพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3 และที่ 4 คือ พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร และพระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองและสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) ตามลำดับ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดโพธิ์คือ เขาฤษีดัดตน ซึ่งเป็นสวนสุขภาพอยู่ใกล้กับพระวิหารทางทิศใต้ รัชกาลที่1 ทรงโปรดเกล้าฯให้รวบรวมแพทย์แผนโบราณและศิลปวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำริเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถ แก้ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆของร่างกาย ประยุกต์รวมกับคติไทยที่ยกย่องฤษีเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการต่างๆ สมัยแรกนั้นปั้นด้วยดิน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 หล่อเป็นเนื้อหินทั้งหมด 80 ท่าแต่เหลือให้เห็นในปัจจุบันเพียง 24 ท่า
นอกจากนี้ ความรู้อันเป็นสรรพศาสตร์ด้านต่างๆถูกจารึกไว้แผ่นศิลาประดับอยู่ตามศาลาราย อย่างเช่นที่ศาลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ส่วนศาลารายด้านทิศตะวันออกทั้ง 2 หลังเปิดสอนการแพทย์และการนวดแผนโบราณจนถึงปัจจุบัน สำหรับการสอนนวดมีทั้งแบบท่าฤษีดัดตน และการนวดประคบด้วยสมุนไพร
วัดโพธิ์ถือเป็นวัดสำคัญที่สุดอีกวัดหนึ่งของเมืองไทยเรา เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะของชาติ ยังเป็นสถานศึกษาหาความรู้ในวิชาชีพชั้นสูง ใครจะเรียนเป็นนักกลอน จะเรียนการช่างไม่ว่าจะเป็นช่างเขียน ช่างแกะสลัก ช่างพระพุทธรูป ช่างก่อสร้างฯลฯ หรือจะเรียนเป็นหมอยา หมอนวด ก็มาเรียนด้วยตนเองได้ที่วัดโพธิ์ ซึ่งสำหรับฉันแล้วรู้สึกเสียดายเพียงอย่างเดียวที่ไม่มีวิชาให้คนบางคนมาเรียนในวิชาการเป็นนักการเมือง
ต่อมาเราจะพาไปดูยักษ์ที่ วัดอรุณราชวราราม หรือที่นิยมเรียกกันว่า วัดแจ้ง…….. ➡ ➡ ➡ ➡


วัดอรุณ (watarun) หรือ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร อาจเรียกอีกชื่อสั้นๆว่า วัดแจ้ง เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก เวลาต่อมาได้การเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและ
ให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” ปัจจุบันเจ้าอาวาสคือพระธรรมมงคลเจดีย์ (เฉลียว ฐิตปุญฺโญ (สกุลเดิม ปัญจมะวัต) เอกลักษณ์ของวัดแจ้งแห่งนี้คงหนีไม่พ้นพระปรางที่ความสวยงามโดดเด่นและไม่เหมือนพระปรางค์แห่งอื่นคือ มีการประดับด้วนเครื่องกระเบื้องที่มีความสวยงามมาก นอกจากนี้เราพาทุกท่านไปพบยักษ์ที่เราได้กล่าวไปข้างต้นนั้นก็คือ ประตูซุ้มยอดมงกุฎ หรือ ซุ้มประตูยอดมงกุฎทางเข้าพระอุโบสถวัดอรุณ- ราชวรารามตั้งอยู่ทางเข้าสู่บริเวณพระอุโบสถ อยู่ตรงกึ่งกลางพระระเบียงพระอุโบสถด้านตะวันออก สร้างในรัชกาลที่ ๓ เป็นประตูจตุรมุข หลังคา ๓ ชั้น เฉลียงรอบ มียอดเป็นทรงมงกุฎ ประด้วยด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้าใบระกา หัวนาค และหางหงส์เป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย หน้าบันเป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วยมีลวดลายใบไม้ดอกไม้ เชิงกลอนคอสองประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเช่นเดียวกัน

ถัดมาจากซุ้มประตูยอดมงกุฎ ก็จะเป็นแนว “พระระเบียงคด” หรือ “พระวิหารคด” ที่รายล้อมพระอุโบสถทั้ง4ทิศ พระระเบียงโดยรอบนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 120 องค์ และที่ฝาผนังของพระระเบียงมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามให้ได้ชม โดยเขียนเป็นรูปซุ้มเรือนแก้วลายดอกไม้ใบไม้
ถัดมาเราก็มาเจอกับพี่ยักษ์ของเรากันซักที………

ประตูซุ้มยอดมงกุฎนี้ เมื่อ ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘) ในรัชกาลที่ ๕ ชำรุดทรุดโทรมมาก พระยาราชสงครามได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถ้าจะโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมใหม่ ก็จะต้องใช้เงิน ๑๖,๐๐๐ บาท หรือไม่ก็ต้องรื้อ เพราะเกรงจะเป็นอันตรายเมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐินวัดนี้ และถ้าโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมทำใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถทางประตูระเบียงด้านเหนือ
ซุ้มประตูแห่งนี้ ได้ปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ การซ่อมครั้งนี้คงรูปเดิมไว้โดยตลอด เปลี่ยนกระเบื้องเคลือบบางส่วนและทางสีเชิงชาย ลงรักปิดทอง ประดับกระจกยอดมงกุฎ ซ่อมช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับกระเบื้องเคลือบ จุดเด่นของประตูซุ้มยอดมงกุฎนี้คงหนีไม่พ้นรูปยักษ์ยืนหน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎมียักษ์ยืนอยู่ ๒ ตน มือทั้งสองกุมกระบองยืนอยู่บนแท่นสูงประมาณ ๓ วา ยักษ์ที่ยืนด้านเหนือ (ตัวขาว) คือ สหัสเดชะ ส่วน ด้านใต้ (ตัวเขียว) คือ ทศกัณฐ์ ปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายรูปลักษณะและเครื่องแต่งตัวรูปยักษ์คู่นี้เป็นของทำขึ้นใหม่ ที่ทำไว้เก่าสมัยรัชกาลที่ ๓
นี้เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งที่เราแค่ยกมาให้ทุกท่านได้รู้ถึง เสน่ห์ ในบางกอก หรือ กรุงเทพมหานครของเราว่ามีความน่าสนใจมากแค่ไหน
ติดตามตอนต่อไปนะคะว่าเราจะพาคุณไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนในกรุงเทพมหานครอีก……. 🙂 😉 ➡ ➡